BLOG

สารพัดวิธีการต่อทีวีและลำโพงรอบทิศกับโน๊ตบุ้ค

เมื่อเราต่อ TV 4K สำเร็จแล้ว
ขั้นต่อไปก็ต้องลำโพงรอบทิศทางสิ

ในโพสที่ผ่านมา ผมได้แนะนำวิธีการเลือกหาซื้อทีวี 4K HDR มาต่อกับโน๊ตบุ้คแล้ว ซึ่งโน๊ตบุ้ครุ่น GG ของเราก็สามารถต่อกับจอ 4K แล้วก็ใช้ HDR รวมไปถึงเล่นเกมกับทีวี Samsung RU8000 55 นิ้ว ที่ความละเอียด 2560x1440 และความถี่ 120Hz ได้อย่างสบาย ทีนี้เสต็ปถัดมาของความฟิน ก็คือการมีระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround) ให้มันครบชุดสินะ~

ขอออกตัวก่อนว่า Guide นี้ เขียนสำหรับการต่อทีวี พร้อมกับการต่อลำโพง 5.1 ของคอมพิวเตอร์ เข้ากับโน๊ตบุ้คนะ ซึ่งลำโพงคอมพิวเตอร์ 5.1 เนี่ยมีราคาประมาณ 2,500 - 3,500 บาท นะ แต่ว่าถ้าลงทุนกับ Sound Bar 5.1 หรือ ระบบเสียง 5.1 จริงๆ เลย ราคาหลายหมื่นบาท ไม่จำเป็นต้องลำบากแบบเราขนาดนี้ อิอิ แต่ถ้าเกิดว่าอยากรู้ว่ามันมีทางไหนอีกบ้างที่ทำได้ ก็เชิญอ่านต่อได้เลย

อะไรคือระบบเสียงรอบทิศทาง (Surround Sound System) ?

ที่ต้องบอกว่าเป็น System หรือระบบเสียง เพราะว่ามันไม่ได้มีแค่ลำโพงอย่างเดียวละ มันมีหลายอื่นประกอบกันมากมาย แต่เอาแบบที่เรามองเห็นได้ง่ายๆ ก่อน ก็คือการที่เรานั่งอยู่ท่ามกลางลำโพงรอบๆ ตัวเราเลยนั่นแหละ

สำหรับลำโพงแบบ Surround ที่ได้รับความนิยม และเราเห็นได้มากที่สุด จะเป็นระบบ 5.1 เห็นมี 5 แต่ว่าต้องใช้ลำโพงทั้งหมด 6 ตัวนะ ก็คือ แทนที่จะมีเสียงแค่ซ้าย-ขวา หรือ 2 แชนเนล (Channel) ในระบบ 5.1 จะมีทั้งหมด 6 แชนเนล

ปล. เพื่อความไม่สับสนระหว่างช่องที่เป็นรูเสียบ (Socket) กับ ช่องที่เป็นช่องสัญญาณ (Channel) จะเรียกว่าแชนเนลนะ ไม่เรียกช่อง

  • Center (C) วางไว้ตรงกลาง ด้านหน้าผู้ฟัง ส่วนใหญ่แล้วเสียงพูด จะออกมาจากลำโพงตัวนี้
  • Left, Right (L/R) คือ เป็นลำโพงคู่หน้า ก็คือเสียงซ้ายขวาปกติแบบที่เราคุ้นเคยกัน
  • Left Surround, Right Surround  (LS, RS) เป็นลำโพงคู่หลัง อันนี้จะเป็นลำโพงสำหรับเสียงที่ควรมาจากด้านหลัง และช่วยเติมบรรยากาศเสียงรอบๆ ตัวเรา และก็ไม่จำเป็นว่า ลำโพงที่เป็นคู่หลัง จะต้องอยู่ด้านหลังเราเสมอไป ด้วยเทคนิคการออกแบบลำโพง เราสามารถทำให้เสียง สะท้อนกับผนังบ้าง เพดานบ้าง แล้วให้เสียงมาอยู่ด้านหลังคนฟังได้ด้วยนะ
  • Subwoofer (LFE) คือ ลำโพงพิเศษสำหรับเสียงต่ำโดยเฉพาะ สังเกตว่ามันจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่นๆ มันคือ .1 ในระบบเสียง 5.1 นี่แหละ

แต่ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเรามีลำโพง 5.1 แล้ว เราเปิดเพลงจาก YouTube เฉยๆ เสียงจะออกมารอบทิศทางไปด้วยโดยอัตโนมัติเลยนะ การที่เราจะสามารถได้เสียงรอบทิศทางออกมา ก็คือต้นฉบับจะต้องมีเสียงรอบทิศทางมาด้วย หรือไม่ก็ต้องใช้โปรแกรม ทำการ Upmix เพื่อเอาเสียง Stereo ที่มีแค่ซ้ายขวา เอาไปใส่ในแชนเนลอื่นๆ ให้ครบทุกแชนเนล

สำหรับการที่ "ต้นฉบับ" จะมีเสียงรอบทิศทางให้เราฟังได้ ก็จะต้องเป็นไฟล์ข้อมูลภาพยนตร์ ที่มีข้อมูลแทรคเสียง (Audio Track) ที่เก็บอยู่ในรูปแบบ AC-3 หรือ DTS อยู่ด้วย ถ้าในปี 2019 นี้ ยังโหลดบิตกันอยู่ ไม่ยอมใช้ Netflix ก็ลองไปแอบเปิดเว็บบิต ส่องๆ ดู ก็จะเห็นว่า ชื่อไฟล์เขาก็จะใส่ว่า AC3, DTS อะไรแบบนี้มาด้วย แปลว่า ในไฟล์พวกนี้ จะมีแทรคเสียง (Audio Track) ที่เป็น AC-3, DTS อยู่ด้วย

สำหรับ Netflix เรื่้องไหนที่เป็นเสียงรอบทิศทาง ก็จะมีเขียนว่า 5.1 อยู่ เป็นอันเข้าใจกันว่าเรื่องนี้มีเสียงรอบทิศทาง

ส่วนถ้าซื้อแผ่น DVD, BluRay มา แทรคเสียงของหนังที่อยู่ในแผ่นพวกนี้ ก็มักจะเป็น AC-3 หรือ DTS อยู่แล้ว เพราะว่าเสียงรอบทิศทางเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน DVD, BluRay เลยแหละ

อะไรคือ AC-3 หรือ DTS?

สำหรับสองชื่อนี้ ก็คือวิธีการในการเก็บข้อมูลเสียงรอบทิศทาง (Codec) แบบเดียวกับที่เราคุ้นเคยกับ MP3, AAC นั่นเอง แต่ว่า AC-3/DTS นั้นจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลเสียงแบบแยกหลายแชนเนล เพื่อใช้สร้างเสียงรอบทิศทางโดยเฉพาะ ซึ่งก็จะมีเทคนิคพิเศษ เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเสียงได้มากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า เราก็สามารถเก็บ MP3 6 แทรคพร้อมกันในไฟล์ภาพยนตร์ สำหรับลำโพง 6 ตัวของ 5.1 ก็ได้ แต่ถ้าเราใช้ MP3 แบบ CD Quality ที่มีปริมาณข้อมูล 128 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) จำนวน 6 ไฟล์ ก็จะต้องใช้พื้นที่ถึง 128x6=768 กิโลบิตต่อวินาที (กิโล = 1024, บิต เป็นหน่วยย่อยข้องข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่ง 8 บิต เป็น 1 ไบต์ และ 1MB มีทั้งหมด 1024 กิโลไบต์ และ 1 เมกกะไบต์ มี 1024 กิโลไบต์ หรือ 1024x1024=1048576 ไบต์) ในขณะที่ข้อมูลแบบ AC-3 ในแผ่น HD DVD/BluRay ใช้เพียง 448 และ 640 กิโลบิตต่อวินาที ตามลำดับ ซึ่งชื่อทางการค้าของ AC-3 คือ Dolby Digital หรือ Dolby Digital Plus (ซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่าของ Codec เรียกว่า E-AC-3) ที่เราคุ้นหูกันนั่นแหละ

ส่วน DTS ก็เป็นอีก Codec หนึ่ง ที่ทางผู้พัฒนาอ้างว่ามีคุณภาพสูงกว่าระบบเสียงรอบทิศทางของ Dolby และถูกใช้ครั้งแรกในภาพยนตร์ Jurassic Park ภาคแรกในปี 1993 (โดย Dolby มีระบบเสียงรอบทิศทางที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 1976) แล้วสองบริษัทนี้ก็แข่งขันกันออกเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเสียงออกมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้

แถมให้นิดนึง ก็ไม่รู้ว่ายังทันกันมั๊ย เครื่องเล่นเทปเก่าๆ เลย จะมีระบบ Dolby B NR (Dolby Type B Noise Reduction) นั่นก็เป็นเทคโนโลยีแรกของบริษัท Dolby ตั้งแต่ช่วงปี 1970-1980 เลยทีเดียว

เคยใช้รุ่นนี้แหละตอน ม. ปลาย เขินจัง~ ภาพจาก: https://www.larkclub.com/gallery/2018/34166/

สำหรับแผ่น DVD, BluRay นั้น ถ้าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างด้วยระบบ DTS ทั้งแต่แรก ก็มักจะมีแทรคเสียงแบบ DTS ใส่ลงมาในแผ่นด้วย ส่วน AC-3 นั้นจะอยู่ในมาตรฐานของ DVD, BluRay แต่แรกอยู่แล้ว และก็ด้วยอายุของทั้งสองเทคโนโลยีนี้ ปัจจุบันเครื่องเล่นทั้งหมด น่าจะรองรับทั้งสอง Codec นี้ได้อยู่แล้วอย่างไม่ต้องกังวลเลย

ถ้าสนใจอ่าน ก็ตามไปได้ทื่ https://en.wikipedia.org/wiki/Dolby_Laboratories กับ https://en.wikipedia.org/wiki/DTS_(sound_system) ได้เลย

ทำยังไงถ้าอยากฟังเสียงแบบรอบทิศทาง?

ทางหนึ่งที่เป็นไปได้ และง่ายที่สุด ก็คือใช้ระบบ Spatial Audio ที่อาศัยความเข้าใจในการได้ยิน เพื่อสร้างเสียงรอบทิศทางแบบจำลองขึ้นมาโดยใช้หูฟัง ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง ลองเสียบหูฟัง แล้วเปิดคลิปนี้ดูสิ แต่ต้องปิดระบบ Virtual 7.1 อะไรในเครื่องก่อนนะถ้าเปิดไว้

ซึ่ง Windows ก็มีระบบ Spatial Audio ในตัวอยู่แล้วนะ สามารถเลือกใช้ Windows Sonic for Headphones ได้เลยโดยการคลิกขวาที่รูปลำโพงแล้วเลือก Speaker Setup 

พอตั้งค่าแล้วก็ลองเปิด Netflix หรือไฟล์ที่มีเสียงรอบทิศทางเปรียบเทียบกันดู ว่ารู้สึกแตกต่างไปบ้างไหม วิธีการทำ Spatial Audio นี้ก็คือระบบ "Virtual Surround" ที่เห็นกันบ่อยๆ ในหูฟังที่บอกว่าเป็น Virtual Surround 7.1 นั่นแหละ

(ส่วนหูฟังที่เป็น True 7.1 คือมีลำโพงข้างในหูฟังหลายๆ ตัว สำหรับแต่ละแชเนล อันนี้อยากลองฟังดูบ้างเหมือนกันว่ามันจะต่างกับ Virtual แค่ไหน :D แต่ยังทำใจซื้อไม่ได้ซะที เพราะรู้ว่าคงเอามาแค่ลองเฉยๆ)

แต่สำหรับเรา ซึ่งเคยบ้าซื้อลำโพง Creative 5.1 มาต่อกับโน๊ตบุ้คก่อนหน้านี้แล้ว (ซื้อแบบกล่องบุบๆ จากร้าน Jinan สมัยร้านอยู่ Fortune แค่ประมาณ 1,400 บาท เหอๆๆๆ) ก็รู้สึกว่า Virtual Surround นี่มันแตกต่างจากลำโพงรอบทิศทาง จริงๆ โดยสิ้นเชิง เพราะว่าเสียงพูด กับเสียงจากด้านหลังจะรู้สึกได้ชัดเจนกว่า พวกที่เป็น Spatial Audio เราจะแค่รู้สึกว่าเรานั่งอยู่ในห้องที่กว้างขึ้นเท่านั้นเอง แต่เสียงจากข้างหลังจริงๆ ก็ยังไม่รู้สึกว่ามาจากข้างหลังอยู่ดี

สำหรับวิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะต่อลำโพง 5.1 ก็คือ ต่อลำโพง 5.1 ผ่านช่อง Analog ของคอมพิวเตอร์เเลย สำหรับ PC ส่วนมากก็มีอยู่แล้ว และสำหรับเครื่องโน๊ตบุ้คของ LEVEL51 เช่นรุ่น XP ในตำนานของเรา ก็สามารถต่อลำโพง 5.1 โดยตรงได้ทันที (ตอนนี้รุ่น XP หายไปจากเว็บชั่วคราวเพราะเรากำลังรอตัวแทนจองมันอยู่ ใกล้มากแล้วละ~) ส่วนถ้าเป็นรุ่น XL, ROSHARN ก็สามารถต่อกับลำโพง 7.1 ได้เลย เพราะว่ามีช่องหูฟังอยู่ 4 ช่องกันเลยทีเดียว

ส่วนถ้าเครื่องเรามีช่องหูฟังแค่สองช่อง หรือช่องเดียว เรามาค่อยๆ ไล่ดูทีละเสต็ปเลยดีกว่า ว่า มันมีวีธีไหนบ้าง

ขอบอกเลยว่า เราเอง ได้ลองมาแล้วทุกวิธีแล้วเลยแหละ!!!

วิธีที่แรก) ซื้อ Sound Card USB มาซะเลยสิ

เป็นวิธีที่กำปั้นทุบดินมาก แต่ก็จะลดความปวดหัวลงไปได้มากที่สุด และข้อดีของมันก็คือ เราจะสามารถเล่นเกมด้วยเสียงรอบทิศทางได้ด้วย โดย Windows ก็จะมองเห็นว่าเรามีลำโพงแบบรอบทิศทาง และเกมที่รองรับ 3D Audio ก็สามารถใช้ลำโพง 5.1 หรือ 7.1 เพื่อสร้างเสียงรอบทิศทางแบบ Real-time จากเกมได้เลย และก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง AC-3, DTS อะไรทั้งสิ้น เพราะว่าถ้าโน๊ตบุ้คเล่นไฟล์นั้นได้ ลง Codec ครบ เสียงก็รอบทิศทางทันที เพราะว่า โน๊ตบุ้คเราจะเป็นตัว Decode หรือ แปลข้อมูลเสียง ออกมาเป็น สัญญาณเสียง 6 หรือ 8 แชเนลอยู่แล้ว ก่อนส่งไปให้การ์ดเสียงส่งออกลำโพงอีกที

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราจะต่อทีวี หรือว่า เครื่องเกม เข้ากับลำโพง 5.1 ของเราไม่ได้เลยยังไงละ >.< สำหรับการต่อกับทีวี ตัวเลือกนีั้จึงไม่เวิร์คเท่าไหร่

ข้อดี:

  • เล่นเกมแบบเสียงรอบทิศทางได้ด้วย!
  • ไม่ต้องกังวล Format ถ้าเครื่องเราเปิดไฟล์เล่นได้ ก็ได้เสียงรอบทิศทางแน่นอน

ข้อเสีย

  • การ์ดเสียง USB ที่มียี่ห้อก็จะราคาแพง ส่วนพวกที่ราคาถูกก็บางทีซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ (แนะนำให้ซื้อจากลาซาด้าจะได้คืนได้ง่ายๆ)
  • ถ้าไม่เปิดโน๊ตบุ้ค ก็จะใช้ลำโพงไม่ได้เลย ดังนั้นถ้ามี XBOX, PS4 ต่อกับทีวี หรือแค่ใช้ Smart TV และจะใช้ลำโพงชุดนี้ด้วยก็จะทำไม่ได้ ยกเว้นต่อสายจากทีวีกลับมาที่การ์ด USB ตัวนี้ แล้วเปิดโน๊ตบุ้คไปด้วย แต่ถ้าทำแบบนี้ เสียงจาก Smart TV ก็จะเป็นแค่ Stereo นะ เพราะว่าต่อให้ใช้ S/PDIF In ของการ์ดเสีัยง USB มันก็ไม่สามารถแปลข้อมูล DTS/AC-3 ได้ ต้องเลือกเป็น PCM จากทีวีเท่านั้นถึงจะมีเสียงออกมา
  • ต้องเสียบสาย USB เพิ่มนอกจากสาย HDMI

สรุปก็คือ

ถ้าเกิดว่าใช้งานโน๊ตบุ้คเป็นหลัก ต่อกับจอภาพหรือทีวีที่ไม่ใช่ Smart TV ออปชั่นนี้ก็จะเหมาะสมที่สุด และง่ายที่สุด เราเองก็ใช้วิธีนี้อยู่ในตอนแรก จากนั้นก็เริ่มมีกล่อง Android Box เข้ามา....มีเครื่องเกม Wii เข้ามา มีี XBOX360 เข้ามา.....โอ๊ะ 10 ปีผ่านมาแล้วเหรอนี่ >.<

วิธีที่สอง) ใช้การแยกเสียงจาก HDMI

แปลกดีไหมละวิธีนี้? ก็เพราะว่าสาย HDMI นั้น จะมีข้อมูลภาพและเสียงไปพร้อมกัน ก็คือในมุมมองของ Windows แล้ว ทีวีหรือหน้าจอคอมพิวตอร์ HDMI จะถือเป็น Sound Card ตัวนึงที่ Windows สามารถส่งเสียงออกไปได้ โดยเสียงที่ส่งไปนี้ จะเป็นแบบ LPCM ซึ่งคือข้อมูลเสียงแบบที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล ไม่มีเทคนิคใดๆ ทั้งสิ้น ประมาณว่า Windows ทำการสร้างไฟล์เสียง WAV ออกมาที่ยาวไม่รู้จบ แล้วก็ส่งไปที่ทีวีตลอดเวลา ทีวีก็ทำการเล่นไฟล์ WAV ให้เราฟังพร้อมกับแสดงภาพไปด้วย

ส่วนในการเล่นภาพยนตร์จาก Netflix นั้น Netflix จะสามารถตรวจสอบได้ว่า อุปกรณ์ที่ต่อผ่าน HDMI สามารถรองรับ Codec ตัวไหนบ้าง และถ้าเกิดว่าอุปกรณ์นั้นรองรับข้อมูลเสียงแบบ Dolby Digital, Dolby Digital Plus (AC-3, E-AC-3) มันก็จะใช้เทคนิค Passthrough หรือ Bitstreaming ส่งข้อมูลเสียงจากต้นฉบับ ผ่านสาย HDMI ไปโดยตรง โดยไม่ทำการแปลข้อมูลเสียง AC-3 เป็น LPCM 6 หรือ 8 แชนเนล ที่เครื่องโน๊ตบุ้คของเราก่อน (ไม่เกิดการ Decode) แล้วทีวีก็เป็นคนอ่านข้อมูล AC-3 นี้ แล้วประมวลผล ทำการ Downmix จากเสียงรอบทิศทาง เป็นเสียง Stereo ก่อนจะปล่อยเสียงแบบ Stereo ออกมาจากลำโพงของทีวีอีกที

ด้วยหลักการนี้ เราเลยสามารถใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า HDMI Audio Extractor เพื่อแยกข้อมูลเสียงออกมาแล้วทำการแปล (Decode) เป็นเสียง 6 แชนเนล แล้วปล่อยออกทางลำโพง 6 ตัวที่ต่อกับมัน โดยที่ข้อมูลเสียงแบบ AC-3 ก็ยังถูกส่งต่อไปที่ทีวีเหมือนเดิม แบบนี้ก็คือเสียงจะออกทั้งจากลำโพงชุด 5.1 และลำโพงของทีวีด้วย ทำให้เราเลือกปิดเสียงที่ที่วีได้ถ้าจะใช้ชุดลำโพง ส่วนวันไหนขี้เกียจเปิดลำโพง ก็สามารถใช้ลำโพงจากทีวีได้อยู่ (นี่คือสาเหตุที่ทีวี มีตัวเลือกว่า จะให้เสียงออกทางไหนยังไงละ)

กล่องตัวนี้สามารถหาซื้อได้จากลาซาด้า ผมแปะลิงค์เอาไว้ให้ ตามนี้เลย

แต่ว่ากล่องแบบนี้ มักจะเป็นหัวแบบ RCA (เป็นช่องแบบหัวใหญ่ ไม่ใช่บริเวณที่่เอาไว้ส่องสาว) เลยจะต้องใช้คู่กับสาย RCA -> 3.5mm ตัวเมีย เพื่อให้ต่อกับลำโพงชุดแบบ 5.1 ของคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นสาย 3.5 มม. 3 สายได้ ก็จะมีค่าสายเพิ่มเติมอีกประมาณเส้นละ 50 บาท และต้องใช้ทั้งหมดสามเส้นด้วยกัน

ข้อดี:

  • ราคาประหยัด ใช้งบอยู่ประมาณ 1,200 - 1,500 บาท นอกเหนือจากค่าลำโพง
  • เพิ่มความสะดวก เสียบสายเส้นเดียว ได้ทั้งภาพ เสียงรอบทิศทางได้เลย
  • PS4, XBOX, เครื่องเล่น BluRay ก็จะได้ใช้ระบบเสียงรอบทิศทางไปด้วยกันด้วยได้ โดยการต่อ HDMI Switcher

ข้อเสีย

  • ยังคงไม่สามารถเล่นเกมจากโน๊ตบุ้ค แล้วได้เสียงแบบรอบทิศทางได้ เพราะว่า Windows มองเห็นเป็นลำโพง Stereo เนื่องจากตัวกล่องจะ Duplicate EDID ของจอภาพหรือทีวีที่ต่อกับมันมาอีกที (ซึ่งก็มักจะบอกว่ามีเสียง 2 Channel) แล้วเพิ่ม Format ที่มันรองรับในการ Decode เข้าไป
  • จะต้องใช้ HDMI Switcher ในการสลับ ก่อนเสียบเข้า HDMI Audio Extractor ทำให้เลือก Input จากรีโมตทีวีไม่ได้
  • คุณภาพเสียงอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

สรุปก็คือ

ถ้าเกิดว่าทีวี ไม่ได้เป็น Smart TV หรือว่าต่อกับจอภาพธรรมดา ออปชั่นนี้ก็จะเหมาะสมที่สุด เพราะว่าเราจะไม่มีเสียงออกจาก TV อยู่แล้ว เราสลับ Source ของเราเองตั้งแต่ก่อนถึงตัวทีวี แล้วก็แยกเสียงเองตั้งแต่ก่อนถึงทีวีเลย นี่ก็เป็นทางเลือกถัดมาที่เราใช้อยู่เหมือนกัน....จนกระทั่ง Smart TV โผล่เข้ามาเมื่อเดือนที่แล้ว

อีกทางเลือกในการแยกเสียงจาก HDMI : A/V Receiver

วิธีแก้อีกทาง ก็คือหาซื้อ A/V Receiver ที่มีช่อง HDMI มาใช้งานซะเลย หลักการของมันก็จะเหมือนกับ HDMI Audio Extractor นั่นแหละ

ตัวอุปกรณ์นี้ มันสามารถแยกข้อมูลเสียงจาก HDMI มาแปลเป็นเสียงออกลำโพงให้ แต่ว่ามันจะมีความสามารถเยอะกว่า และออกแบบมาเพื่อเป็น Hub ในการประมวลผลเสียงทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้จะมี Optical In (S/PDIF In) ให้เราต่อเสียงจากทีวีกลับมาอีกรอบ ทำให้สามารถใช้เสียงรอบทิศทางจากฟังก์ชั่น Smart TV ได้

และในยุคนี้ A/V Receiver และทีวี จะรองรับมาตรฐาน ARC (Audio Return Channel) เพื่อให้ทีวีใช้สาย HDMI ที่ต่อกับ A/V Receiver อยู่ ส่งข้อมูลเสียงกลับไปยัง A/V Receiver ได้ด้วย ไม่ต้องเสียบสาย Optical อีกเส้นนึงเพิ่ม

ส่วนทำไมผมไม่แนะนำวิธีการนี้แต่แรก....ก็อยู่ที่ ราคา อย่างเดียวเลยจ้าาาา ถ้าถามว่าทำไมมีแต่ภาพ ONKYO ก็อยากได้ไง อิอิ

ข้อดี:

  • เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ มันทำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการปล่อยเสียงออกมาเลยทีเดียว ไม่ต้องดิ้นรนมาก เขาคิดมาให้แล้ว
  • สามารถเล่นเกมจากโน๊ตบุ้ค แล้วได้เสียงแบบรอบทิศทางได้เลย ถ้า A/V Receiver ที่รองรับ LPCM 6, 8 แชนเนล ซึ่งส่วนมากก็จะรองรับ มีผลเหมือนเสียบ USB Sound Card 5.1 / 7.1 เลย
  • รองรับหลาย Format (Dolby, DTS, และ Format ย่อยๆ ของสองค่ายนี้)
  • คุณภาพเสียงมักจะดีกว่า เพราะวงจรประมวลผลก็มีคุณภาพสูงกว่า และก็เป็น Amp ในตัว ต่อกำลังโพงใหญ่ขนาดไหนก็สบาย

ข้อเสีย:

  • ราคาสูงกว่าใช้ HDMI Audio Extractor มากๆๆๆๆ หลักหมื่นไปจนถึงแสน รวมลำโพง อาจจะไปเป็นหลักล้านกันเลยทีเดียว
  • ใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณ 200-300W

สรุปก็คือ

ถ้าจะเอามาต่อกับลำโพงคอม ชุดละ 2-3 พันบาท อันนี้เลือกผิดแล้วละ!~!!! แต่ถ้ามีงบประมาณ และใช้กับลำโพงคุณภาพดีต้องการกำลังขับสูง ก็ไม่ต้องพยายามมากแบบเรานี่ กดๆ ไปเลย เจ็บแล้วจบ แบบครบชุดมาพร้อมลำโพงเลยก็มีนะ ประมาณ 30,000 - 40,000 บาท เท่านั้นเอง~~! ไม่ก็ Sound Bar ที่เป็น Dolby Atmos ไปเลยจ้า นอกจากด้านหลังแล้ว ยังมีเสียงด้านบนด้วย ราคาประมาณ 40,000 - 60,000 เท่านั้น แย๊กกก

วิธีที่สาม) ต่อเสียงแบบ Optical จากทีวีออกมา

เนื่องจากทีวีสมัยนี้ จะเป็น Smart TV เกือบหมดแล้ว และก็ทีวีจะพยายามทำตัวเป็น Hub ของบ้าน ทำให้มันมีช่อง HDMI Input หลายช่อง ต่ออุปกรณ์ USB ได้ ต่ออุปกรณ์ Bluetooth ได้ สั่งงานด้วยเสียงได้ หนทางที่ดีที่สุดก็คือให้ทีวีนั่นแหละ เป็นตัวจัดการทุกอย่างแบบที่เขาตั้งใจ แต่สิ่งที่ทีวีขาดไปก็คือมันมักจะไม่มีช่องต่อลำโพงแบบอะนาลอกในตัว (ช่องหูฟังหรือ RCA) เพราะว่าเขายังต้องขาย Receiver หรือ Sound Bar เราด้วยยังไงละ

เพื่อให้สามารถต่อกับ Sound Bar ได้ ทีวีหลายๆ รุ่น จะมีช่องสัญญาณ Optical Out หรือ S/PDIF Out (สายแบบนี้เรียก TOSLINK) โดยช่องนี้ ถ้าทีวีออกแบบมาถูกต้อง มันควรจะ Passthrough ข้อมูลเสียงที่ได้รับมาจาก Input ทั้งหมด หรือ จาก App Netflix บนตัวทีวี ออกมาทางสายนี้ แบบเดียวกับที่เราทำ HDMI Passthrough ซึ่ง Sound Bar ส่วนมาก ก็จะใช้ช่องนี้ในการต่อกับทีวี และถ้าเป็น Sound Bar ที่เป็นเสียงรอบทิศทาง มันก็จะเหมือนว่าเป็น A/V Receiver ในตัวที่สามารถแปลข้อมูลเสียงรอบทิศทางรูปแบบต่างๆ ได้ด้วย (ก็คือมันมีตัว Decoder) เหมือนเป็นลำโพงกับ A/V Receiver ในตัวเดียวกันนั่นแหละ

และสำหรับทีวีรุ่นที่มี HDMI Audio Return Channel (ARC) จะสามารถใช้กับ Sound Bar, A/V Receiver ได้เท่านั้นนะ ใช้กับกล่อง HDMI Audio Extractor ไม่ได้ เพราะว่าเป็นคนละมาตรฐานกัน

ภาพจากรีวีวทีวี Samsung RU8000 - เว็บ RTINGS.com

ก็ด้วยความรู้นี้ที่เรามี กับช่อง Optical Out นี้ เราก็สามารถใช้ตัว Decoder ราคาย่อมเยา เพื่อแปลงข้อมูลเสียงรอบทิศทาง เป็นสัญญาณเสียง 6 หรือ 8 แชนแนลอีกที แล้วก็ต่อกับลำโพงชุด 5.1 ราคาย่อมเยาของเราได้ แค่นี้เป็นอันเรียบร้อย

สำหรับอุปกรณ์นี้ก็สามารถหาได้จากเว็บลาซาด้าอีกเช่นเคย เราแนะนำตัวนี้ เพราะว่าในชุดมีสาย TOSLINK มาด้วย ไม่ต้องหามาเพิ่ม แล้วก็แค่ซื้อสายแปลงหัว RCA->3.5mm ก็สามารถใช้ต่อกับลำโพง 5.1 ได้เลย

ข้อดี:

  • ราคาประหยัด จ่ายเงินเพิ่มอีกแค่ประมาณ 500-600 บาท
  • ทุกอย่างต่อกับทีวีได้โดยตรง ทุกอย่างจะดูราบรื่น กดรีโมตทีวีสั่งได้ทุกอย่าง ใช้ Smart TV ได้ เสียงออกลำโพง 5.1 ทั้งหมด

ข้อเสีย

  • ยังคงเล่นเกมแล้วให้ได้เสียงรอบทิศทางไม่ได้เช่นเดิม เพราะว่าทีวีจะบอกว่ามันมีลำโพงแค่สองตัว ทำให้ Windows เลือกได้แค่ Stereo
  • คุณภาพเสียงคงจะเทียบกับ A/V Receiver ตัวละหมื่นกว่าบาทไม่ได้
  • ไม่มี Amp ในตัว ต่อลำโพงตรงๆ ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องต่อกับลำโพงที่มี Amp อยู่แล้ว เช่น ลำโพงชุด 5.1 ของคอมพิวเตอร์

สรุปก็คือ

ถ้าเกิดว่ามีอุปกรณ์หลายอย่าง และทีวีก็ Smart TV ไม่อยากเสียเงินซื้อ A/V Receiver และไม่ได้จริงจังอะไรกับคุณภาพเสียงมากมาย มีลำโพงชุด 5.1 ของคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว วิธีนี้น่าจะเหมาะสมที่สุดเลย

(และแน่นอนว่า อีกทางนึงที่ทำได้ ก็คือซื้อ Sound Bar 5.1 มาต่อกับทีวีเลยนั่นแหละ)

ส่งท้าย

เอาละ หวังว่าข้อมูลที่เราค้นคว้ามาให้ จะเป็นประโยชน์กับท่านที่กำลังสนใจจะต่อลำโพง 5.1 กับโนีตบุ้คอยู่นะ ถ้ามีข้อสงสัยหรืออยากพูดคุยกัน อย่่าลืมมาเจอกันได้ที่ Group LEVEL51 Talk นะ 

BLOG

LEVEL51 คือใคร?

เราเป็นบริษัทโน๊ตบุ้คของคนไทย ใช้เครื่องจากโรงงาน CLEVO แบบยี่ห้อดังในต่างประเทศ ที่คุณสามารถเลือกสเปคเองได้เกือบทั้งเครื่อง ถ้าโน๊ตบุ้คและคอมพิวเตอร์ของคุณ คืออุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นี่คือเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับคุณ

1317
ลูกค้าที่รักเรา
0
เครื่องเกินแสนบาท
49
K
มูลค่าเครื่องโดยเฉลี่ย
0
K
สถิติเครื่องแพงสุด

ลูกค้าหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัย

ลูกค้ากลุ่ม Video Production, 3D Design, Software House

Landscape Design

ลูกค้ากลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและก่อสร้าง

 

 

 

พิเศษเฉพาะคุณ - รับคูปองส่วนลด 2,000 บาท สำหรับการสั่งซื้อเครื่องกับเรา