NXL เป็นเครื่องอีกรุ่นหนึ่งที่ขายดีเลยของเราครับ โดยในปีที่ผ่านมา ก็มียอดสั่งซื้ิอประมาณ 40 กว่าเครื่อง น่าจะเพราะด้วยความที่มันเป็นเครื่องแบบที่ใช้ CPU Desktop รุ่นแรกของเรา ที่มีราคาต่ำลงมาในระดับใกล้เคียงกับโน๊ตบุ้คธรรมดา
แต่ว่าทำไมเราจะต้องใช้เครื่องโน๊ตบุ้คที่เป็น CPU Desktop ด้วย?
นั่นก็เพราะว่า โน๊ตบุ้คโดยทั่วไป ที่เรามักจะเห็นว่า ใช้ CPU ในรหัสที่ชื่อ i7-8750H ถึงแม้จะมีจำนวน Core 6 Core เหมือนกัน แต่ว่าความเร็วในการทำงานนั้นจะต่ำกว่า เพราะว่า Intel ได้ตั้งค่าให้ตัวชิพ ทำงานที่ระดับความร้อน (TDP) ต่ำกว่า และนอกจากนี้ เครื่องบางรุ่นยังตั้งค่าให้ CPU ทำงานที่ระดับความร้อนต่ำลง (Configurable TDP-Down) จากปกติ 45W ให้เหลือเพียง 35W เพื่อลดต้นทุนของระบบระบายความร้อนลงอีก
การที่ CPU ถูกจำกัดความร้อนที่มันสามารถปล่อยออกมาได้นี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเร็วในการทำงาน เมื่อใช้งานหนักอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า Power Limit Throttling เช่น การประมวลผลไฟล์ RAW หลายหมื่นไฟล์ติดต่อกันนานๆ หรือการเรนเดอร์โปรเจควีดีโอ/งานสามมิติ แต่ว่าเวลารันการทดสอบตอนช่วงแรกๆ ที่ความร้อนยังไม่สูงมาก จะเห็นว่าคะแนนออกมาเท่ากัน ถ้าสนใจอ่านต่อ ผมเคยเขียนอธิบายไว้แล้วว่า ทำไม i7-8750H ถึงไม่สามารถทำงานที่ความเร็ว 4.1GHz ตลอดเวลาได้ (และส่วนใหญ่ทำงานที่ 2.9-3.1GHz)
ส่วนกรณีของเครื่อง NXL/GXL นั้น CPU จะทำงานที่ระดับความร้อนมาตรฐานสูงกว่า คือ 65W (และมี L3 Cache มากกว่าด้วย เป็น 12MB) และเราก็ยังสามารถปรับระดับความร้อนเองได้ด้วยตามใจชอบ ผมก็เคยเขียนอธิบายไว้แล้วเหมือนกัน และถ้าดูจากรีวิวของเครื่อง NXL ก็จะมีเปรียบเทียบให้ดูด้วยว่าที่ระดัับ TDP ต่างกัน ส่งผลกับประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง กด Play ดูได้เลยนะ ตั้งเวลาไว้ตรงที่รีวิวประสิทธิภาพแล้ว
เริ่มจาก อะไรบ้างที่เปลี่ยนไปกันดีกว่า~!
สิ่งที่เปลี่ยนไป #1 ฝาหลังแบบใหม่
เรื่องฝาหลังของ NXL ตัวเก่านี่ เรียกได้ว่า เป็น Love it หรือ Hate it เลยสำหรับบางท่าน :D เพราะว่ามันออกจะดูมีความเกมมิ่งอยู่มากเลย กับสัญญลักษณ์อักษรต่างดาวสีแดง แต่ว่าในตัวใหม่นี้ ยังคงมีไฟสีแดงออกมาเหมือนเดิม แต่ว่าออกมาจากลายฉลุบนตัวชิ้นอะลูมิเนียม แทนที่จะเป็นพลาสติกสะท้อนแสงโป่งออกมาข้างนอก ทำให้มีความขลังมากกว่าเดิม มองบางมุม เหมือนจะมีไฟ บางมุมไม่เห็นชัดเท่าไหร่ ประมาณว่าซ่อนความแรงไว้เนียนๆ แล้วก็มีการเปลี่ยนแนวการออกแบบเล็กน้อย ออกมาดูคล้ายกับรุ่น XM15 เดิม
สิ่งที่เปลี่ยนไป #2 หน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 16.1 นิ้ว ในขนาดเครื่องเท่าเดิม
สำหรับเทรนด์การออกแบบช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้นการที่ขอบจอต้องบาง อันนี้คงต้องเรียกว่าเป็นจุดด้อยของบริษัท CLEVO ที่ค่อนข้างจะขยับตัวล่าช้า (เครื่องขอบจอบาง ที่เป็นของบริษัทอื่นที่เป็น OEM เหมือนกัน มีตั้งแต่ปี 2016) แต่ว่ารวย เลยสามารถสั่งหน้าจอขนาดพิเศษของตัวเองกันได้เลยทีเดียว โดยหน้าจอเป็นของ Innolux (Chi-mei) ชื่อดูจีนๆ แต่ว่าบริษัทนี้เป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตหน้าจอของโลกที่มี Market Cap ประมาณ 100,000 ล้านบาท และก็คงปฏิสเธไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้จีนก็ครองสินค้าเทคโนโลยีกันไปหมดแล้วอะเนาะ
ซ้าย NXL GTX, ขวา NXL RTX
ซึ่งจอนี้ ไม่ได้แค่ทำออกมาเล่นๆ เพราะ ทำออกมาแล้วทีเดียวสุดทางไปเลย ด้วยความถี่การแสดงผล 144Hz เล่นเกมลื่นสบาย และมี Color Gamut ที่จูนมาสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ โดยให้ Gamut Volume (ปริมาณสีที่แสดงได้) 100.8% sRGB โดยที่ Coverage sRGB อยู่ที่ 97% หมายถึงว่าจำนวนสีที่อยู่ในมาตรฐาน sRGB มี 3% ที่จอนี้แสดงไม่ได้ ซึ่งโดยมาตรฐานแล้วถือว่าผ่านเกณฑ์ (ข้างล่างนี่ หมุนเล่นได้นะ)
จอนี้จะต่างกับจอเดิมของเราที่มีให้เลือก ที่เป็นสี Wide Gamut ที่จูนมาสำหรับ DCI-P3 (130% sRGB, Coverage sRGB 99.8%) ตรงที่สีจะไม่เข้ม (Saturate) มากจนเกินไป ซึ่งบางท่านก็ชอบ ส่วนท่านที่เอาไปใช้ทำงานก็กังวลว่าสีจะเข้มเกินไปพอไปดูจอที่เป็น sRGB ทำให้สีไม่ตรงกัน ทำให้เลือกกันไม่ถูก จอตัวใหม่นี้น่าจะตอบโจทย์ผู้ที่เอาไปทำงานด้วยมากกว่าจอเดิม และมันยังเป็นจอเทคโนโลยี IPS Family แล้ว คือมีมุมมอง กว้าง 175 องศาทั้งแนวตั้งและแนวนอน จากเดิมที่เป็นจอเทคโนโลยี TN ที่ให้มุมมอง 170 องศาในแนวนอนและ 120 องศาในแนวตั้ง แต่ว่าก็ต้องแลกกับ Response ที่ต่ำลงจาก 5ms เป็น 7ms แทน (T Rise + T Fall - นะ บ่นหน่อยว่าเครื่องบางรุ่นจะบอกแต่ T Rise นะเลยเลขดูน้อย :P) เพราะว่าเทคโนโลยีแบบ IPS ยังมีข้อจำกัดเรื่อง Response Time อยู่
สิ่งที่เปลี่ยนไป #3 Adapter เล็กลง
Adapter ของปีนี้เล็กลงแทบทุกรุ่นอย่างเห็นได้ชัดเลย สำหรับของ NXL นั้น จะเป็น Adapter ขนาดความแรงพิเศษ 230W เพื่อรับมือกับการดึงไฟปริมาณมหาศาลของของ RTX 2070 ได้อย่างราบรื่น และก็ถ้าเราปรับ TDP ของ CPU สูงขึ้น เป็น 80W Adapter นี้ก็ยังสามารถจ่ายไฟไหวอยู่ และยังเหลือไฟไปชาร์จแบตได้ด้วย
สิ่งที่เปลี่ยนไป #4 Keyboard แบบ Per-Key LED
อีกส่งที่เปลี่ยนไป ก็คือตัว Keyboard ใช้ไฟ Backlit แบบ LED แยกอิสระต่อปุ่มเลย สำหรับคนที่ชอบเล่นและมีความขยัน ก็สามารถตั้งสีไฟแต่ละปุ่มได้เลย แต่ว่าจะปรับให้เป็นสีเดียวกันทั้งหมด ก็ได้เหมือนกัน
และก็สามารถเลือก Effect ได้ตระการตามากขึ้น มีด้วยกัน 7 โหมด (ในภาพเป็น Keyboard เยอรมัน พอดีว่าเครื่องของเราจากโรงงานมันมาช้า เลยสั่งเยอรมันมาก่อน :P )
สิ่งที่เปลี่ยนไป #5 Chipset กลายเป็น H370
ฟังดูเหมือนว่าจะเป็นการ Downgrade จากของเดิมที่เป็น Z370 แต่จริงๆ แล้วตัวเครื่อง NXL ไม่จำเป็นจะต้องใช้ Chipset Z370 ก็ได้ เพราะว่าตัวระบบระบายความร้อนจะออกแบบมาเพื่อรองรับ TDP 65W เท่านั้น ซึ่งจะเป็นกลุ่ม CPU ที่ Overclock ไม่ได้ (โดยซีพียูที่มีรหัส K ที่สามารถ Overclock คือปรับตัวคูณได้ จะกำหนดไว้ที่ 95W) แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราเอา CPU รหัส K ไปใช้ร่วมกับ Chipset H เราก็ยังสามารถปรับตัวคูณได้อยู่ แต่ว่าจะไม่สามารถปรับเกินว่าตัวคูณสูงสุดที่ CPU กำหนดไว้ได้ โดย Ratio Limit ในโปรแกรม Intel XTU จะแสดงเป็นค่าสูงสุดของ CPU ตัวนั้น แทนที่จะเป็น 83x ถ้าเป็น Chipset Z370
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้ร่วมกับ CPU ซึ่งตั้งตัวคูณมาสูงมากแต่แรกอยู่แล้ว อย่าง 9700K เราก็สามารถก็ปรับให้ทั้ง 8 Core ทำงานได้ที่ 4.9GHz พร้อมกันได้อยู่ดี แต่อย่างหนึ่งที่เราควรจะต้องเสียไปก็คือความสามารถในการใช้แรมแบบ XMP….แต่ทำไมก็ไม่รู้ ในเครื่อง GXL ที่ใช้ i7-9700K กลับสามารถใช้แรม XMP ได้ และก็ทำงานที่ความเร็ว 2800 MHz ได้ด้วย!?!?!?
สิ่งที่เปลี่ยนไป #6 BIOS ที่จูนมาดีขึ้น
จากที่ผมได้เขียนเล่าให้ฟังในโพส Overclock ตัว BIOS ของรุ่น NXL / GXL ในปีนี้ ได้รับการตั้งค่า Processor Core IccMax กับ Tcc Activation Offset หรือ ความร้อนสูงสุดที่จะเริ่ม Throttle ความเร็ว CPU มาด้วย (สำหรับ NXL ตัวก่อนนี้ ตั้งไว้เป็นค่า Default คือ 138Amp และ 98c ) ทำให้ตัว CPU ทำงานที่อุณหูมิสูงสุด ไม่เกิน 87c และไม่ดึงไฟมากเกินไป ต่อให้เราไปปรับทั้ง 8 Core เป็น 49x (4.9GHz)
ผมได้ลองทดสอบมาให้ดูแล้วว่า การตั้งค่า IccMax กับ กับ Tcc Activation Offset ที่เหมาะสม แทนที่จะปล่อยสุดไปเลยนั้น ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างเครื่อง NXL (GTX) ที่ผมใช้อยู่นั้น เมื่อปรับที่ 92c และ IccMax 103Amp ปรากฏว่าได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการทดสอบ LinPack มากกว่าการตั้งความร้อนสูง หรือ Amp สูงสุดซะอีก
ที่เป็นแบบนี้เพราะผมสังเกตมานานแล้วว่า CPU เมื่อความร้อนสูงขึ้น มันจะต้องใช้แรงดันไฟสูงขึ้น และแน่นอนว่าพอแรงดันไฟสูงขึ้น ความร้อนที่ปล่อยออกมาก็ยิ่งมากขึ้น (ตามสูตร Power = V x I ) แล้วมันก็จะวนไปอยู่แบบนี้จนในที่สุดก็จะติด Power Limit Throttle ยาวตลอด การที่ตั้ง IccMax กับ Tcc Activation Offset ที่เหมาะสมไว้ จะเป็นการช่วยให้ CPU ไม่ร้อนจนไปถึงลูปการเพิ่มแรงดันไฟไม่รู้จบตรงนั้นได้ กลายเป็นว่าพอไปลิมิต กลับเร็วกว่า แปลกดีเหมือนกันนะ
อ้อ แล้วก็ BIOS เปลี่ยนยี่ห้อเป็น InsydeH20 ด้วยนะ ทำให้ Interface มันสวยขึ้น และผมก็จัดการเปลี่ยน Logo ได้สำเร็จแล้ว เดี๋ยวทดสอบแล้วจะนำมาให้ใช้งานกันอีกที
แล้วประสิทธิิภาพเป็นยังไงบ้้าง?
เริ่มกันจากเทสการทำงานกันก่อนเลย ผมพยายามจะเทสด้วย TheaRender แบบเดียวกับ NXL GTX แล้ว แต่ปรากฏว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่อาจทราบได้ ตัว TheaRender Benchmark นั้น มองไม่เห็นการ์ดจอ RTX ซะอย่างนั้น :( ก็เลยไม่สามารถทำการทดสอบได้ ผมเลยเลือกใช้ VRAY Benchmark แทน โดย CPU ที่เข้าร่วมการทดสอบ มีดังนี้
- i7-8700 ที่ผ่านการ Delid และเปลี่ยนเป็น Copper IHS ในเครื่อง NXL RTX2060 โดยทดสอบ 5 แบบคือ
- 1) PL1 35W เพื่อเป็นตัวแทนของ 8750H ที่โหดร้ายที่สุด ก็คือเป็นเครื่องที่โดน cTDP Down ไว้
- 2) PL1 45W เป็นตัวแทนของ 8750H ที่ไม่โดน cTDP Down
- 3) PL1 65W คือระดับ TDP ปกติของ i7-8700
- 4) PL1 Unlimited คือไม่จำกัดค่า PL1 เลย อันนี้จะมีผลเหมือนกับการใช้งานกับเมนบอร์ด Overclock บางรุ่นที่ค่า Default จะไม่จำกัด PL1 ไว้เล
- 5) PL1 Unlimited พร้อม Undervolt 0.1V
- i7-8700 ปกติธรรมดา ใช้ IC Diamond ทดสอบในเครื่อง QXL เป็นระบบระบายความร้อนเดียวกันกับ NXL แต่ว่าเครื่องเป็น 17 นิ้ว ทดสอบ 3 แบบคือ
- 1) PL1 65W
- 2) PL1 Unlimited
- 3) PL1 Unlimited และ Undervolt 0.1V
- i7-9700K Delid ในเครื่อง GXL ซึ่งจากการดูด้วยตา ตัว Heatsink จะเล็กกว่าหน่อยนึงนะ
- i7-9700K Delid และเปลี่ยนเป็น Copper IHS ในเครื่อง NXL RTX2070 โดยทดสอบ 2 แบบ
- 1) PL1 Unlimited
- 2) PL1 Unlimited และ Undervolt 0.1V
(สำหรับท่านที่งงว่า PL1 คืออะไร มีอธิบายอยู่ในโพส Overclock มันคือค่า Turbo Boost Power Max ครับ)
ส่วนผลมีตามนี้ครับ
- i7-8700 ไม่ K แต่งเต็มยศ Delid, Undervolt, Copper IHS มาแรงสุด เร็วกว่า i7-8750H ที่โดน cTDP Down เกือบ 50%
- i7-9700K เต็มยศ ช้ากว่าประมาณ 10% เหตุผลเพราะว่าติด Current Limit (Processor Core IccMax)
- IC Diamond แล้ว Undervolt ก็ยังได้ผลใกล้เคียงกับการแต่งเต็มยศอยู่นะ แต่ว่าถ้าไม่ Undervolt คือมันสุดแล้วจริงๆ
ประสิทธิภาพการเล่นเกม
ก็การเล่นเกม ผมเน้นใช้ FFXV เนี่ยแหละ เพราะว่ามัน Real ดี และมีฐานข้อมูลให้เทียบเยอะดี แปลกมากที่ในเว็บผลการทดสอบของ FFXV นั้น ไม่มีผลของ RTX2060 อยู่เลย ผมเลยเอา GTX1660Ti ซึ่งควรจะมีประสิทธิภาพพอๆ กับ RTX2060 เพราะว่ายังไงเกมนี้ก็ไม่ได้ใช้ RTX ก็ได้ผลออกมาตามนี้
โดยสำหรับ RTX2060 ใน NXL นั้น ถ้าเพิ่มความเร็วไป 140MHz ซึ่งโดยประมาณแล้วจะเท่ากับความเร็ว RTX2060 มาตรฐานพอดี ก็ได้คะแนนขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ GTX1660Ti Desktop / GTX1070 Desktop และเพิ่มขึ้นถึง 15%
ส่วน RTX2070 ใน NXL นั้น ผมได้ทดลองเพิ่มไป 160MHz ซึ่งจะเป็นความเร็ว RTX2070 มาตรฐาน (1620MHz) ปรากฏว่าไม่สามารถรันจบได้ และพบว่า 100MHz เป็นจุดที่สามารถรันได้จนจบแต่ก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเพียง 6% เท่านั้น แต่คะแนนก็อยู่ในระดับเดียวกับ GTX 1080 Desktop เลยทีเดียว
ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมถึง Overclock ได้ไม่มาก นั่นก็เป็นเพราะว่า ชิพที่อยู่ในโน๊ตบุ้ต จะทำงานที่ระดับ Volt ตำ่กว่า และมี TDP ต่ำกว่า Desktop มาก เช่น RTX 2070 Desktop นั้นมี TDP 175W แต่ใน NXL จะมี TDP เพียง 125W เท่านั้น ถ้าหากว่าต้องการให้ความเร็วสูงกว่านี้ได้ เราก็ยังสามารถทำได้โดยการ Mod vBIOS (BIOS ของการ์ดจอ) ได้อีกทีนึง (ปล. การเซฟไฟล์ vBIOS ของ Notebook ต้องแยกออกมาจาก BIOS ของเครื่องอีกทีนะ ใช้ GPU-Z ไม่ได้) ซึ่งของ LEVEL51 เคยมีทำไว้แล้วเหมือนกันกับเครื่อง M15 ที่เปลี่ยนความเร็ว GTX950M ให้ไปเท่ากับ GTX960M แต่ว่ากับรุ่น RTX นี้ ผมยังไม่ได้ทดลองเล่นนะ ไว้ถ้ามีทำไว้ เดี๋ยวคงจะเอามาลงให้โหลดกัน
การระบายความร้อนให้ i7-8700
แน่นอนว่า เล่นเอา CPU Desktop มาใส่ในเครื่องโน๊ตบุ้ค ก็น่าจะมีหลายท่านที่เป็นห่วงในแง่ของการระบายความร้อน :) กราฟที่แสดงเป็นอุณหภูมิที่จับด้วย HWInfo ระหว่างที่ทดสอบ VRAY นั่นแหละ
(สำหรับท่านที่งงว่า PL1 คืออะไร มีอธิบายอยู่ในโพส Overclock มันคือค่า Turbo Boost Power Max ครับ)
i7-8700 Copper IHS, PL1 Unlimited: ในช่วงประมาณ 1 ใน 3 ของการทดสอบ (ตอนจบการทดสอบในกราจะเป็นเส้นสีเขียววิ่งลง) มันสามารถทำความเร็วได้จนถึงประมาณ 4.3GHz เฉลี่ยจากทั้ง 6 Core หรือสูงสุดเท่าที่ 8700 ตั้งค่าไว้ และก็ตามขั้นตอนของมันคือ เมื่อความร้อนมาแตะที่ 87c ตามค่าที่ BIOS ตั้งเอาไว้ มันก็จะลดความเร็วลง โดยมาอยู่ประมาณ 4.0-4.1GHz
i7-8700 Copper IHS, PL1 Unlimited, -0.1V Undervolt: และเมื่อเราทำการ Undervolt ความเร็วเฉลี่ยทั้ง 6 Core เลยพุ่งขึ้นไปได้ประมาณ 4.3GHz จนจบเทส เพราะว่าความร้อนยังไปไม่ถึง 87c เลย และจะเห็นว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่น้อยกว่าตอนไม่ได้ Undervolt อย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างไรก็อย่าลืมว่า ความเร็วในการรันเทสต่างกันไม่มากนัก แค่ประมาณ 3-4% เท่านั้นเอง
i7-8700 แบบธรรมดา ไม่แต่งอะไรเลย, PL1 Unlimited: เนื่องจากมันไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่ากับ Copper IHS และก็ไม่ได้ Delid ด้วย ความเร็วจึงจำเป็นต้องถูกลดงมาเรื่อยๆ โดยมาคงที่อยู่ที่ 3.7GHz โดยความเร็วในการรันเทส เท่ากับ i7-8700 ที่ Delid แต่ว่าใช้ PL1 65W
i7-8700 แบบธรรมดา ไม่แต่งอะไรเลย, PL1 Unlimited, -.01V Undervolt: การ Undervolt ก็ทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 4.0GHz ได้ในช่วงท้ายของการทดสอบ ก็มีผลทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นถึง 10% เลยทีเดียว (เนื่องจากอันนี้กดหยุดเร็วไปหน่อย เลยไม่มีความร้อนตอนหลังจากจบเทส)
ส่วน Performance ในระยะยาว ผมใช้วิธีเดิมแบบเดียวกับในรีวิว NXL ที่เป็นวิดีโอ คือทดสอบโดยใช้ Cinebench รันวนไปเรื่อยๆ 30 นาที แต่ตั้ง PL1 ไว้ที่ 65W ตามมาตรฐาน แล้วจับความเร็วกับความร้อนออกมา ผลที่ได้ก็คือ ความร้อนอยู่นิ่งคงที่ที่ประมาณ 85c (ก็ BIOS ตั้งไว้ 87c) และความเร็วสามารถพุ่งไปถึง 4.3GHz ได้ตามจังหวะการ Boost โดยใน 30 นาทีรันได้ประมาณ 50 รอบ
ส่วนคะแนนก็อยู่ในระดับคงที่เช่นกัน แต่อย่างที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า Cinebech นั้น การทดสอบสั้นเกินไป และ CPU สมัยนี้เร็วมากแล้ว อย่าง 8700 ตัวนี้ ใช้เวลาระหว่างเทสรวมการปิดและเปิด Cinebench ขึ้นมาใหม่เพียงแค่ประมาณ 40 วินาที ซึ่งเวลาเทสจริงๆ ก็สั้นกว่านั้นอีก ยังไม่นานพอที่เราจะรู้ประสิทธิภาพจริงๆ ได้ เพราะในระยะสั้นๆ แบบนี้แน่นอนว่า CPU ก็สามารถ Boost ได้และประมวลผลไปแล้วพอสมควรก่อนจะติด PL1 ผมจึงไม่ได้ใช้คะแนน Cinebench ในการเปรียบเทียบนะ แต่ว่ามันพอจะบอกได้ว่า ใช้ไปนานๆ ประสิทธิภาพก็ไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่ ต่างจากโน๊ตบุ้คบางรุ่นที่พอเริ่มรันหลายรอบ ความเร็วจะลดลงอย่างมาก
การระบายความร้อนให้ i7-9700K (Copper IHS)
มาถึงชิพที่ทุกท่านรอคอยบ้าง คือ i7-9700K Copper IHS เนื่องจากตัว 9700K มีี Core เยอะ ผมสังเกตว่า มันไปติดที่ Current Limit (Core IccMax) ก่อน เพราะว่ามันต้องใช้กระแสไฟมากกว่า 8700 ประมาณ 30% โดยความร้อนสูงสุด อยู่ที่เพียงประมาณ 70c เท่านั้นเอง และไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยความเร็วทั้ง 8 Core โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9GHz
การ Undervolt แน่นอนว่าก็เป็นการลดกระแสไฟที่จ่ายเข้าไปยังตัว CPU มันก็ยังติด Current Limit เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่มันจะติดที่ความเร็วสูงขึ้น ผลก็คือ ความเร็วเฉลี่ย เพิ่มจาก 3.9GHz เป็น 4.1GHz โดยที่ความร้อนยังคงน้อยกว่าเดิมอีก คุณพระ! แน่นอนว่า ถ้ากล้าปรับ Processor Core IccMax เพิ่มขึ้นจาก 103A ก็จะได้ความเร็วสูงกว่านี้
สำหรับ 9700K เนื่องจากความร้อนมันยังไม่ไปถึงจุด Thermal Throttle จริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ที่จะไปทดสอบ Long-term Performance เพราะมันก็จะเท่าเดิมตลอด แต่ว่าก็รันไว้ด้วย ส่วนคะแนนมีความผิดพลาดทางเทคนิคเล็กน้อย เซฟไฟล์ทับกันเลยไม่มีกราฟคะแนนให้ดู >.< แต่คะแนนอยู่ที่ประมาณ 1350 - 1390 ซึ่งจะสูงกว่า i7-8700 เนื่องจากตอนต้นที่เริ่มเทส ตัว CPU ยังไม่ร้อน (ทำให้มันใช้ Volt ต่ำได้ เลยไม่ติด Current Limit) มันทำความเร็ว 8 Core ได้สูงประมาณ 4.7GHz เลยทีเดียว
การระบายความร้อนให้ RTX
ส่วนด้านของชิพ RTX ผมทดสอบโดยใช้ 3DMark Stress Test ซึ่งจะเป็นการรันเทสวนไป ประมาณ 20 นาที แน่นอนว่าในเมื่อชิพมันเป็น RTX ผมก็ต้องรันกับเทสที่ใช้ Ray Tracing อย่าง Port Royal สิ ถ้าเกิดว่าท่านไหนไม่เคยชม Port Royal มาก่อน ก็ขอเอามาแปะไว้ให้ดูตรงนี้ละกัน
i7-8700 Copper IHS + RTX2060 (LIQUID Pro) ได้ 96.8% ซึ่งไม่ผ่านตกไป 0.2 :'( โดยความร้อนสูงสุดของ GPU อยู่ที่ 65c
i7-9700K Copper IHS + RTX2070 (LIQUID Pro) ได้ 98.9% ความร้อนสูงสุดของ GPU อยู่ที่ 67c
ส่งท้าย
หวังว่ารีวิวฉบับนี้จะหนำใจทุกท่านนะครับ คิดว่าน่าจะตอบข้อสงสัยได้เกือบหมดทุกอย่าง ถ้าสนใจรุ่นนี้ ก็อย่าลืมทักมานะ เครื่องที่เราสั่งกำลังจะมาถึงแล้ว :D